วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ที่เที่ยวแนะนำเมื่อมาเยือนจังหวัดพะเยา

แนะนำ 10 ที่เที่ยวแนะนำเมื่อมาเยือนจังหวัดพะเยา



1. กว๊านพะเยา พะเยา

กว๊านพะเยา  อยู่ในเขตอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และ อันดับ 4 ของประเทศไทย (รองจากบึงบอระเพ็ดหนองหานและบึงละหานคำว่า "กว๊าน" ตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง "บึง" เกิดขึ้นจากกรมประมงได้ทำประตูกั้นน้ำไว้เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง และในฤดูฝนก็กั้นไม่ให้น้ำไหลแรงไปท่วมเรือกสวนไร่นาที่อยู่ปลายน้ำ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากหลัง เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากห้วยต่างๆ 18 สาย มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปีละ 29.40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพันธ์ปลาน้ำจืดกว่า 48 ชนิด มีเนื้อที่ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาต่างๆ ทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยา มีส่วน ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ที่สวยงามประทับใจผู้พบเห็น จนอาจจะกล่าวได้ว่าหัวใจของเมืองพะเยาอยู่ที่กว๊านพะเยานี่เอง
ริมกว๊านพะเยาเป็นร้านอาหารและสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ กว๊านพะเยาในอดีตแต่เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมีสายน้ำอิงไหลพาดผ่านคดเคี้ยวทอดเป็นแนวยาวไปตลอด จากทิศเหนือจรดขอบกว๊านฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประกอบกับมีหนองน้ำน้อยใหญ่หลายแห่งและร่องน้ำหลายสายที่ไหลลงมาจากขุนเขาดอยหลวงแล้วเชื่อมติดต่อถึงกัน ทำให้พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแห่งนี้จึงมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งนักและมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นชุมชนนานนับตั้งแต่โบราณ






2. วัดติโลกอาราม



วัดติโลกอารามหรือสันธาตุบวกสี่แจ่ง พระอารามหลวงในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2019 - 2029 ปัจจุบันตัววัดจมอยู่ใต้กว๊านพะเยา ยกเว้นส่วนยอดพระธาตุที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา เนื่องจากปี พ.ศ. 2482 กรมประมงได้ก่อสร้างประตูกั้นน้ำ ทำให้แม่น้ำอิงและลำน้ำสาขาซึ่งไหลลงมาจากทิวเขาผีปันน้ำ เกิดการเอ่อล้นเข้าท่วมชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณหนองเอี้ยงจนเกิดทะเลสาบน้ำจืดขึ้นมา เรียกว่ากว๊านพะเยา ทำให้วัด โบราณสถาน และชุมชนโบราณจำนวนมาก จมอยู่ใต้น้ำ
วัดติโลกอาราม ตั้งอยู่ในเขตกว๊านพะเยา เทศบาลเมืองพะเยา ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
ประวัติ
วัดติโลกอาราม เดิมมีเพียงยอดเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐดินเผา โผล่พ้นน้ำขึ้นมาในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านที่ทำการประมงแถบกว๊านพะเยาเรียกว่า สันธาตุกลางน้ำ เนื่องจากเห็นเป็นส่วนของพระธาตุโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา บริเวณโดยรอบ มีกลุ่มพืชน้ำขึ้นปกคลุมอยู่เป็นจำนวนมาก ปี พ.ศ. 2549 ได้มีการล่องเรือสำรวจกว๊านพะเยา คณะสำรวจซึ่งนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ตัวแทนจากหอจดหมายเหตุ หอการค้าจังหวัด ได้ล่องเรือผ่านบริเวณสันธาตุกลางน้ำและเกิดความสนใจ เนื่องจากเป็นศาสนสถานเก่าแก่ที่มีมาก่อนกว๊านพะเยา ปี พ.ศ. 2550 คณะสำรวจพร้อมด้วยประธานฝ่ายสงฆ์คือพระธรรมวิมลโมลี ได้ลงเรือสำรวจพื้นที่อีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการพัฒนาสันธาตุกลางน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด หนึ่งเดือนหลังการสำรวจพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นำชาวบ้านลงพัฒนาพื้นที่บริเวณสันธาตุกลางน้ำ มีการกำจัดวัชพืช ปรับปรุงสถานที่ มีการบูรณะสิ่งปลูกสร้างให้มีความแข็งแรง เพื่อรองรับน้ำหนักของคนที่ขึ้นไปนมัสการพระธาตุ ระหว่างการบูรณะ คณะทำงาน ค้นพบแผ่นหินทราย จารึกด้วยอักษรฝักขาม เมื่อส่งแผ่นหินทรายให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ ปรากฏว่า ข้อความที่จารึก ระบุประวัติของวัดไว้อย่างชัดเจน โดยข้อความบนแผ่นหินทรายระบุว่า วัดนี้ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2019 - 2029 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าติโลกราช เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของอาณาจักร
บ่วงสี่แจ่ง
พื้นที่เดิมของวัดติโลกอาราม สร้างขึ้นบริเวณบวกสี่แจ่ง คำว่าบวกสี่แจ่ง เป็นภาษาถิ่น (บวก หมายถึงหนองน้ำ แจ่ง หมายถึงมุม) บวกสี่แจ่ง หมายถึงหนองน้ำบริเวณสี่แยก เนื่องจากพื้นที่วัดติโลกอาราม แต่เดิมเป็นพื้นที่ในบริเวณสี่แจ่งหรือสี่แยกอยู่ใกล้กับหนองเต่า พื้นที่ชุมชนริมหนองเต่านี้ ถือเป็นชุมชนโบราณ จนปี พ.ศ. 2482 กรมประมงได้สร้างประตูคอนกรีตขึ้นมากั้นแม่น้ำอิงและลำน้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลลงมาจากทิวเขาผีปันน้ำ ทำให้พื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนโบราณ วัด หนองน้ำ ทั้งหมดจมอยู่ใต้ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมาเรียกว่ากว๊านพะเยา
คำว่า บวกหรือแจ่ง สามารถพบได้ในชื่อสถานที่ ซึ่งก่อสร้างขึ้นมาในสมัยอาณาจักรล้านนา เช่น บวกหาด แจ่งศรีภูมิ แจ่งหัวลิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแจ่งเมืองเชียงใหม่
 จารึกหินทราย
จารึกวัดติโลกอาราม ค้นพบเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 เป็นแผ่นหินทราย จารึกด้วยอักษรฝักขาม บอกเล่าประวัติความเป็นมาของวัด ผู้อุปถัมภ์วัด ผู้สร้าง และพิธีกรรมทางศาสนา ข้อความในจารึกให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระเจ้าติโลกราช ซึ่งพระราชทรัพย์สำหรับสร้างวัดนี้ขึ้น อักษรฝักขามที่ใช้บันทึก ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช อักษรชนิดนี้นิยมสลักลงบนแผ่นหิน โดยเฉพาะในเมืองพะเยานั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีจารึกหินทรายสมัยล้านนามากที่สุด เนื่องจากมีแหล่งสกัดหินเป็นของตัวเอง และเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง
เมืองพยาวหรือภูกามยาว เคยมีสถานะเป็นเมืองลูกหลวงทางทิศใต้ของหิรัญนครเงินยางเชียงแสน กษัตริย์ที่ปกครองเมืองสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เชียงแสน ภูกามยาวดำรงสถานะนครรัฐอิสระหลังพ้นยุคหิรัญนครเงินยางเชียงแสนและเข้าสู่ยุคต้นของอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยพญามังราย จวบจนพ้นรัชสมัยของพญางำเมือง กษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์เชียงแสน ภูกามยาวก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา และในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ได้ทรงแผ่ขยายพระราชอำนาจออกไปทั่วทุกทิศ ดินแดนล้านนาในยุคสมัยของพระองค์ กินอาณาบริเวณไปจนจรดชายแดนจีนตอนใต้ ยุคสมัยนี้ นอกจากการศึกสงครามแล้ว พระพุทธศาสนาก็มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีการส่งทูตไปยังลังกา ทำให้พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในล้านนา อีกทั้งยุคสมัยของพระเจ้าติโลกราช ยังมีการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 8 ของโลก ทำให้เมืองต่าง ๆ ในอาณาจักร ต่างมีการทะนุบำรุงพระศาสนา มีการสร้างวัดและคัดลอกพระไตรปิฎกกันอย่างแพร่หลาย หนึ่งในวัดที่สร้างขึ้นมาในยุคของพระเจ้าติโลกราช ก็คือวัดติโลกอาราม และวัดนี้ ถือเป็นพระอารามหลวงหรือวัดหลวงในรัชสมัยอีกด้วย เนื่องจากเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทรัพย์ให้สร้างและรับเป็นองค์อุปถัมภ์
จารึกหินทรายวัดติโลกอาราม ปัจจุบัน ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา
พระพุทธรูปศิลา
ปี พ.ศ. 2526 มีการค้นพบพระพุทธรูปใต้กว๊านพะเยา เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างพะเยา หน้าตักกว้าง 105 เซนติเมตร ชาวบ้านได้อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาจากน้ำ จากนั้นทางจังหวัดพะเยาได้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีอุโมงค์คำ จน ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการบูรณะสันธาตุบวกสี่แจ่งขึ้นมา มีการตั้งฐานบุษบกด้วยอิฐดินเผา และได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปหินทรายจากวัดศรีอุโมงค์คำมาประดิษฐานไว้บนฐานบุษบกบริเวณลานซึ่งสร้างขึ้นมาเหนือน้ำ ที่วัดติโลกอาราม
เวียนเทียนกลางน้ำ
การเวียนเทียนที่วัดติโลกอาราม มีความแตกต่างจากการเวียนเทียนในวัดอื่น ๆ คือผู้ที่เข้ามาเวียนเทียน จะนั่งอยู่บนเรือแจวเพื่อทำการเวียนเทียนรอบลานอิฐดินเผาและพระธาตุที่โผล่พ้นผิวน้ำ เนื่องจากอุโบสถของวัด จมอยู่ใต้กว๊านพะเยา โดยในแต่ละปีจะมีการเวียนเทียนทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ซึ่งการเวียนเทียนกลางน้ำนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การเดินทาง
วัดติโลกอาราม สามารถเดินทางจากแยกประตูชัยเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา โดยใช้ถนนประตูชัย และถนนพหลโยธิน จากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายบริเวณธนาคารกสิกรไทย ตามถนนท่ากว๊าน จนถึงท่าเรือกว๊านพะเยา




3.วัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง)





"พระเจ้าตนหลวง"วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา วัดศรีโคมคำตั้งอยู่เลขที่ ๖๙๒ ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ริมกว๊านพะเยา กว๊านพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ ๑ ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำที่มีธรรมชาติงดงาม อยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากบังข้างหลังสูงตระหง่านอย่างงดงามตา คำว่า กว๊านตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง บึงมีเนื้อที่ ๑๒,๘๓๑ ไร่ มีความลึกเฉลี่ย ๑.๕ เมตร ลึกที่สุด ๔ เมตร เป็นแหล่งประมงน้ำจืด และเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ กว่า ๕๐ ชนิด เช่น ปลากราย ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาจีน ปลานิลปลาไน ฯลฯ ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด พะเยาสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึก จากพ่อพันธุ์ในบ่อเลี้ยงเป็นผลสำเร็จ เป็นแห่งแรกของโลกในปี พ.ศ.๒๕๔๔ สามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาบึกได้เป็นแสนตัว ส่วนหนึ่งได้ปล่อยลงสู่กว๊านพะเยา ทัศนียภาพโดยรอบ กว๊านพะเยาเหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ในยามเย็นชมพระอาทิตย์ตกริมกว๊าน เป็นภาพที่สวยงามมาก ซึ่งเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นและผู้มาเยือน จนอาจกล่าวได้ว่า หัวใจของเมืองพะเยาอยู่ที่ กว๊านพะเยา

 วัดศรีโคมคำเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองพะเยา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และวัดพัฒนาตัวอย่าง ชาวเมืองพะเยาทั่วไปนิยมเรียกว่า วัดพระเจ้าตนหลวงซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าตนหลวงโดยสร้างขึ้นในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๐๓๔-๒๐๖๗ พระเจ้าตนหลวงเป็นพระประธานเก่าแก่ในพระวิหารหลวง ศิลปะเชียงแสนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร และสูง ๑๖ เมตร สร้างจากอิฐมอญผสมกับปูนขาว ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เดือนหกของทุกปีจะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวง ตามตำนาน พระเจ้าตนหลวงสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๓๔ โดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และพระยาเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยาในสมัยนั้น เจ้าอาวาสรูปแรกที่ปรากฏในตำนาน คือ พระธรรมปาล ได้เขียนตำนานพระเจ้าตนหลวงออกเผยแพร่

 มีสมุดข่อยบันทึกว่า วัดศรีโคมคำ เป็นวัดมาแต่โบราณกาล แต่ยุคหลัง บ้านเมืองตกอยู่ในสงคราม ต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามหัวเมือง ที่ปลอดภัยจากข้าศึก ทำให้บ้านเมือง วัดวาอาราม รกร้างว่างเปล่าไป ต่อมาภายหลังได้สถาปนาเมืองพะเยาขึ้น บ้านเมืองก็ดี วัดวาอารามก็ดี ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามลำดับ ถึงปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมืองคือ พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ร่วมกันไปอาราธนาท่านครูบาศรีวิชัยจากจังหวัดลำพูน มาเป็นประธาน ในการสร้างพระวิหารหลวงและเสนาสนะต่างๆ จนสำเร็จบริบูรณ์ กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวง นอกจากนี้ ยังมี พระอุโบสถกลางน้ำ ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นโดยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งมวลจากทั่วประเทศ โดยมี นิยม สิทธหาญมัณฑนากรจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ จินดา สหสมรสถาปนิกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันออกแบบ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติและวิถีชีวิตผู้คน ฝีมือของ อังคาร กัลยาณพงศ์ศิลปินแห่งชาติ และ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ

 ชะตาพระเจ้าตนหลวงตามตำนาน กล่าวได้ว่า พระโมลีใหญ่ ๒๐ กำมือ สูง ๓ ศอก พระเศียรกลม ๖ วา พระเกศามี ๑,๕๐๐ เส้น ขนาดใหญ่ ๔ กำมือ ขนาดกลาง ๓ กำมือ ขนาดเล็ก ๒ กำมือ ขนาดจิ๋ว ๑ กำมือ พระพักตร์หน้ายาว ๒ วา กว้าง ๒ วา พระขนง (คิ้ว) ๓ ศอก ระหว่างพระขนงกว้าง ๑ ศอก ยาว ๓ ศอก กว้าง ๑ คืบ ดั้งพระนาสิก ๓ ศอก ๑ คืบ ใหญ่ ๖ กำมือ พระโอษฐ์ (ปาก) ยาว ๔ ศอก กว้าง ๑ คืบ ใหญ่ ๖ กำมือ พระกรรณ (หู) ยาว ๖ ศอก กว้างศอกคืบ พระศอยาว ๒ ศอก กลม ๓ วา พระอังสา (บ่า) ยาว ๓ คืบ กระดูกด้ามมีดยาว ๔ วา ตั้งแต่พระอุระ (อก) ถึงพระชานุ (คาง) ๒ วา ตั้งแต่พระถัน (นม) ถึงพระอังสา (ไหล่) ๒ วา ตั้งแต่พระนาภี (สะดือ) ถึงพระอุระ (อก) ๒ วา ระหว่างพระอุระ (อก) กว้าง ๒ วา พระพาหา (แขน) ยาว ๔ วา กลม ๒๙ กำมือ นิ้วพระหัตถ์ใหญ่ ๙ กำมือ ยาว ๑ วา พระกฏิ (สะเอว) กลม ๗ วา ฝ่าพระบาทยาว ๒ วา กว้าง ๓ ศอก ระหว่างพระชานุกว้าง ๗ วา พระหทัยใหญ่ ๖ กำมือ ตั้งแต่ที่ประทับนั่งถึงพระโมลี สูง ๘ วา ๒ ศอก

 พระเจ้าตนหลวงหรือ พระเจ้าองค์หลวงมิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทยด้วย ในช่วงเดือนหกของทุกปี ประมาณเดือนพฤษภาคม ตรงกับวันวิสาขบูชา จะมี งานนมัสการพระเจ้าตนหลวง หรือ เทศกาล แปดเป็งจะมีประชาชนในจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการก่อสร้างพระเจ้าตนหลวง เมื่อครั้งสมัยที่ยุคทองทางพระพุทธศาสนาของล้านนา ประชาชนจึงเชื่อว่าพระเจ้าตนหลวง คือ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า ใครที่ได้มากราบสักการะแล้ว จะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลอยู่ดีมีสุขตลอดไป





 4. อุทยานแห่งชาติภูซาง




อุทยานแห่งชาติภูซาง มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ดินบริเวณป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ป่าน้ำเปี๋อยและป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ในท้องที่อำเภอเชียงคำ กิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขา มีความอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์นานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ป่า และภูเขาที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 178,049.62 ไร่ หรือ 284.88 ตารางกิโลเมตร 



ความเป็นมา: เดิมจัดตั้งเป็นวนอุทยานแห่งชาติภูซาง อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว (กฎกระทรวงฉบับที่ 966 พ.ศ. 2541 ) ในท้องที่ตำบลภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งกรมป่าไม้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2533 เนื่องจากสำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย สำรวจเสนอ และกองบัญชาการหน่วยรบเฉพาะกิจ กองพลที่ 4 สนับสนุนให้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน ตามหนังสือที่ กส 0809 (ชร) /1975 ลงวันที่ 5 เมษายน 2522 และ กห 0334 (ฉก.พล.) /1819 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 กองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 มีหนังสือที่ นร 5106/2616 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้กรมป่าไม้จัดตั้งพื้นที่วนอุทยานน้ำตกภูซาง มีเนื้อที่ประมาณ 73,000 ไร่ 







5.วนอุทยานภูลังกา



สัมผัสทะเลหมอก ดอกไม้ป่า พิชิตภูลังกา ภูนม ชมอาทิตย์ขึ้นลง เข้าดงก่อโบราณ กังวาลเสียงนก น้ำตกสวยใส ประทับใจดอกโคลงเคลงดอยภูลังกา ภาษาชาวเขาเผ่าเมี่ยน เรียกว่า "ฟินจาเบาะ" หมายความว่า "ภูเทวดา" เป็นยอดดอยที่สวยงามมีความสูง 1,720 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงที่สุดในเทือกเขาสันปันน้ำ ไทย-ลาว ด้านทิศเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 7,800 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลผ่าช้าง อ.ปง จ.พะเยา สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นป่าดิบเขา เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำยม มีต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากชมทะเลหมอกดวงอาทิตย์ขึ้นลง และดอกไม้ป่าสวยงาม โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว มีถ้ำหลบภัยของ ผกค.ในอดีต มีน้ำตกสวยงาม
นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้หายากเช่น ต้นชมพูภูพาน เนียมแดง เอื้องสีตาล เทียนธารา สัตฤาษี เป็นต้น สำหรับสัตว์ป่ามีจำนวนมากกว่า 100 ชนิด เช่น เสือโคร่ง หมี กวาง เก้ง หมูป่า งูจงอาง ผีเสื้อ เป็นต้น สำหรับนกป่าประจำถิ่นและนกอพยพ ซึ่งสวยงามมีมากกว่า 200 ชนิด เช่น นกพญาไฟ นกเป้า เป็นต้น จึงเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ลักษณะภูมิอากาศในช่วงฤดูหนาวอากาศเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 7 องศา สูงสุดเฉลี่ย 35 องศามีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน
แหล่งท่องเที่ยว

ยอดดอยภูลังกา มีความสูงประมาณ 1,720 เมตร สามารถเฝ้าชมวิวทะเลเมฆและทะเลหมอก ดอกไม้ป่า ชมอาทิตย์ขึ้นลงท่ามกลางทะเลภูเขาสวยงามมาก นอกจากนี้ยังสามารถสัมผัสอากาศสดชื่นเย็นสบายตลอดปี

ยอดดอยภูนม มีความสูงประมาณ 1,600 เมตร สามารถชมวิวได้ 360 องศา นอกจากนี้สามารถใช้มุมมองในลักษณะรูปร่างจินตนาการได้ถึง 3 มิติ คือคล้ายกำแพงเมืองจีนคล้ายลิงกอริลล่า และคล้ายนมสาว
ทุ่งดอกโคลงเคลง ต้นเอนอ้า หรือบานอ้า ภาษาคำเมืองเรียก ต้นดอกข้าวจี่ ภาษาม้ง เรียกว่า จื๋อจั่วท้ง ภาษาเย้า เรียก ต้นกงุ้งซัง เป็นไม้พุ่มดอกสีม่วง มีลักาณะสวยงามออกดอกบานสะพรั่ง ในช่วงปลายฝนต้นหนาว และช่วงเทศกาลสงกรานตขึ้นรวมกันเป็นทุ่งกว้าง และกระจัดกระจายทั่วไปในวนอุทยานภูลังกา การใช้ประโยชน์ รากของต้นโคลงเคลงมีรสขม มีสรรพคุณบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงดี บำรุงตับและไต แก้อ่อนเพลีย
ข่าดอกสีแดง ออกดอกบานสะพรั่งในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยขึ้นกระจายทั่วไปบนดอยภูลังกาและดอยภูนม ลักษณะช่อดอกทรงกระบอกยาวประมาณ 30 ซม.
น้ำตกภูลังกา เป็นน้ำตกน้ำใสเย็นมี 2 ชั้น โดยชั้นที่ 1 มีความสูง 30 เมตร และชั้นที่ 2 สูง 20 เมตร มีความสวยงามในช่วงฤดูฝน
ลานหินล้านปี มีสภาพเป็นลานหินบนสันดอยภูลังกา มีมอสเกาะตามหินโดยมีดอกไม้ป่า ขึ้นกระจัดกระจาย เช่น ต้นบีโกเนีย กล้วยไม้ป่า ชมพูพูพาน โคลงเคลง เทียนป่า และตาเหินไหว เป็นต้น สวยงามมากข่วงปลายฝนต้นหนาว
หินแยงฟ้า เป็นแท่งหินยื่นโผล่ขึ้นไปบนฟ้าอยู่ปลายสุดของยอดดอยภูลังกา
ป่าก่อโบราณ เป็นสภาพป่าดิบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์พืชสมุนไพรและต้นก่อขนาดใหญ่จำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมพันธุ์พืชดอกไม้ป่ากล้วยไม้ป่า และชมนกได้อย่างสนุกตื่นเต้นโดยเฉพาะช่วยปลายฝนต้นหนาว
ร่องรอยตำนาน ผกค.ในอดีต ดอยภูลังกาในอดีตเป็นฐานที่มั่น ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มีสนามเพาะ, หลุมระเบิด และถ้ำหลบภัยหลงเหลือให้ได้ดูชม
ห้องเรียนธรรมชาติ

- ได้จัดให้มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติจำนวน 2 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

- จัดแสดงสงวนพันธุ์พืชสมุนไพร ไว้ให้ได้ศึกษาหาความรู้

- สวนว่านตามตำราโบราณ ให้ได้ศึกษาหาชมซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง เดือนมิถุนายน-สิงหาคม เป็นช่วงที่ว่านมีความสวยงาม

- สวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีไทย
- สวนพันธุ์ไม้ประจำวันเกิด
- สวนพันธุ์กล้วยไม้ป่าของไทย พันธุ์แท้สลับกันออกดอกตลอดทั้งปี

ห้องเรียนธรรมชาติของวนอุทยานภูลังกา จะเป็นที่ศึกษาหาความรู้ของต้นพันธุ์ไม้ต้นจริง ที่ไม่ใช่ในรูปภาพหรือ จินตนาการจากข้อเขียนตามหนังสือ อันจะทำให้ผู้ที่ต้องการศึกษาพันธุ์พืชของจริงได้ดูชม และเกิดความรักต้นไม้รักธรรมชาติ
พันธุ์ไม้ป่าหายาก ตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ในวนอุทยานจะพบความแปลกกับพันธุ์ไม้หากยาก ที่ขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ต้นชมพูภูพาน เนียมแดง เหมือดคนแดง สัตฤาษี เทียนธารา ตาเหินไหว ผักเผ็ดข้าวก่ำ เป็นต้น
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก วนอุทยานภูลังกามีบ้านพัก, ลานกางเต็นท์, เส้นทางปั่นจักรยาน, เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมนก ชมป่าธรรมชาติ สำหรับที่พักและลานกางเต็นท์ มีจำนวนจำกัด ควรติดต่อกับวนอุทยานภูลังกาล่วงหน้าก่อนตั้งโปรแกรมการเดินทาง

วนอุทยานภูลังกา ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา โทร. 0 1883 0307

สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 ถ.สิงหไคล ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000 โทร. 0 5371 1402

ข้อจำกัดของวนอุทยานภูลังกา

1. เส้นทางรถยนต์ในเขตวนอุทยาน เป็นทางดินแดงขึ้นเขาสูงแคบชั้นโค้งคดเคี้ยว ขึ้นได้เฉพาะกับรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น

2. รถยนต์ธรรมดาสามารถขึ้นได้ ถึงห้องเรียนธรรมชาติของวนอุทยานภูลังกา และสามารถเดินป่าตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
3.ในเขตวนอุทยานไม่มีไฟฟ้าควรจัดเตรียมอุปกรณ์ส่องสว่างให้พร้อม
4. ในเขตวนอุทยานห้ามทิ้งขยะ นักท่องเที่ยวต้องนำขยะกลับออกไปทิ้งที่บ้าน
5. อาหารและอุปกรณ์พักแรมควรเตรียมไปให้พร้อม
6.วนอุทยานภูลังกาเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ถึง 18.00 น.




6.วัดพระธาตุจอมทอง


วัดพระธาตุจอมทอง ตั้งอยู่บน ดอยจอมทอง ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามวัดศรีโคมคำ มีทางรถยนต์ขี้นไปถึงยอดเขา เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปนมัสการเจดีย์พระธาตุจอมทอง ซึ่งเป็นปูชนียสถานโบราณ คู่เมืองพะเยา บริเวณโดยรอบมีป่าไม้ปกคลุม เป็นสวนรุกขชาติมองเห็นตัวเมืองและกว๊านพะเยาได้โดยรอบ 


7.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า 


     ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 โดยเริ่มจากการบุกเบิกพื้นที่พัฒนาที่ดิน จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ราษฎรเพื่อยุติการบุกทำลายป่าไม้ จากนั้นส่งเสริมการปลูกไม้ผลเมืองหนาว โดยในช่วงแรกมีการแนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าเย้าและม้งปลุกสาลี่ พลับ อโวคาโด และถั่วแดงหลวง พื้นที่เป็นภูเขาและเนินเขา อุณหภูมิเฉลี่ย 25.8 องศาเซลเซียส
    จุดเยี่ยมชมภายในสถานีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า
บ้านปังค่า เป็นหมู่บ้านชาวเขาซึ่งประกอบด้วยเผ่าเย้าและม้ง อาชีพหลักคือ ปลุกข้าวไร่ ข้าวโพด กะหล่ำปลี ซึ่งนอกจากรายได้ไม่เพียงพอแล้วยังแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร ในปี พ.ศ. 2530 มูลนิธิ โครงการหลวงจึงได้มีการ จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าขึ้น เริ่มต้นโดยกรมพัฒนาที่ดินดำเนินการบุกเบิกพื้นที่พัฒนาที่ดิน จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำจัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ราษฎร เพื่อยุติการบุกรุกทำลายป่าไม้ จากนั้นส่งเสริมให้ปลูกผลไม้เมืองหนาว
ศูนย์ฯ ตั้งอยู่ที่ บ้านสิบสองพัฒนา ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 660 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนินเขาสูง มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบ 3 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าเมี่ยนและม้ง
   จุดเยี่ยมชมที่น่าสนใจ
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- วนอุทยานภูลังกา เส้นทางเดินชมธรรมชาติมีจุดชมวิวทะเลหมอก เป็นหน้าผาที่มีปลายยื่นออกมา มองเห็นประเทศลาวได้ มี ลานโอโซน บ่อน้ำทิพย์
- ห้วยผาบ่อง เป็นลำน้ำไหลผ่านกลางโพรงหน้าผา
- น้ำตกขุนน้ำต้ม เป็นน้ำตก 3 ชั้น สามารถเล่นน้ำพักผ่อนได้
    แหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร
- แปลงไม้ผล อโวกาโด องุ่นไร่เมล็ด ลิ้นจี่
- แปลงไม้ประดับ ขิงแดง มะเขือมิคกี้เม้าท์ บัวชั้น กระเจียว พีค๊อก
- แปลงผัก กะหล่ำม่วง ซุกินี่ มะเขือม่วงก้านดำ หอมญี่ปุ่น
     การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ประเพณี เย้า ตรุษจีนหรือปีใหม่ ช่วงเดือน ก.พ. เป็นงานเลี้ยงจัดทั้งหมู่บ้าน มีการละเล่น การแสดงและชาวบ้านจะมีการแต่งกายชุดประจำเผ่าสวยงามมาร่วมงานกัน
- ประเพณีปีใหม่ม้ง เป็นงานฉลองทั้งหมู่บ้านมีการละเล่นและการแสดง ของชาวเขา โยนลูกช่วง เป่าแคนม้งเล่นลูกข่าง ชาวบ้านจะมีการแต่งกายชุดประจำเผ่าสวยงามมาร่วมงานกัน
- ชมพาสปอร์ตโบราณที่ยาวที่สุดในโลก จากมณฑลกวางสี ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การค้าระหว่างประเทศในอดีต
ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว
    สถานที่พัก และอาหาร
ภายในศูนย์ฯมีบ้านพักบริการ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ 20-30 คน สถานที่กางเต็นท์ บริการ เต็นท์ ถุงนอน ส่วนที่พักของวนอุทยานแห่งชาติภูลังกา ติดต่อโทร 08-8188-0307มีร้านอาหารบริการภายในศูนย์ ฯ และมีร้านอาหารของชาวบ้าน
การเดินทาง
เริ่มต้นจาก พะเยา ผ่านอำเภอดอกคำใต้-อำเภอจุน มุ่งหน้า อำเภอเชียงคำไปตามทางหลวงหมายเลข 1179 เลี้ยวขวาที่ กม.8 เข้าทางหลวง สาย 1148 สายเชียงคำ-น่าน จากนั้น เลี้ยวซ้ายที่ กม. 90 ขับต่อไปตามถนน รพช.
สถานที่ติดต่อ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า บ้านปังค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา 56110 โทร. 0-5440-1023
ติดต่อ: 
โทร. 0-5440-1023
สถานที่ตั้ง: 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า บ้านปังค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา 56110




8.อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง


พ่อขุนงำเมือง เป็นกษัตริย์เมืองพะเยาองค์ที่ 9 นับจากพ่อขุนจอมธรรม ประสูติเมื่อพุทธศักราช 1781 เป็นราชบุตรของพ่อขุนมิ่งเมือง สืบเชื้อสายมาจากท้าวจอมผาเรือง เมื่อพระชนมายุ 14 ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาเล่าเรียนศิลปะศาสตร์เทพในสำนักเทพอิสิตนอยู่ภูเขาดอยด้วน 2 ปี จึงจบการศึกษา เมื่อพระชนมายุได้ 16 ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาต่อ ขอถวายตัวอยู่ในสำนักสุกันตฤาษี ณ กรุงละโว้ (ลพบุรี) จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับ พระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย สนิทสนมผูกไมตรีต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ศึกษาศิลปศาสตร์ร่วมครูอาจารย์เดียวกันเป็นสหายกันตั้งแต่นั้นมา ทรงเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เช่นเดียวกับพระร่วงเจ้า เมื่อเรียนจบก็เสด็จกลับเมืองพะเยา ปีพุทธศักราช 1310 พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ จึงครองราชย์สืบแทน
             
ตำนานกล่าวถึงพ่อขุนงำเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า ทรงเป็นศรัทธาเลื่อมใสใน พระพุทธศาสนา ไม่ชอบสงคราม ปกครองบ้านเมืองด้วยความเที่ยงธรรม ผูกไมตรีจิตต่อประเทศราช และเพื่อนบ้าน ขุนเม็งรายเคยคิดยกทัพเข้าบดขยี้เมืองพะเยา พ่อขุนงำเมืองล่วงรู้เหตุการณ์ ก่อนแทนที่จะยกทัพเข้าต่อต้าน ได้สั่งไพร่พลให้อยู่ในความสงบ สั่งให้เสนาอำมาตย์ออกต้อนรับโดยดี เชิญขุนเม็งรายเสวยพระกระยาหารและเลี้ยงกองทัพให้อิ่ม ขุนเม็งรายจึงเลิกการทำสงคราม แต่นั้นมา พ่อขุนงำเมือง จึงยกเมืองปลายแดน ซึ่งมีเมืองพาน เมืองเชี่ยงเคี่ยน เมืองเทิง และเมืองเชียงของ ให้แก่พระเจ้าเม็งราย และทำสัญญาปฏิญาณต่อกันจะเป็นมิตรต่อกันตลอดไป

ฝ่ายพระยาร่วงซึ่งเป็นสหายคนสนิทก็ได้ถือโอกาสเยี่ยมพ่อขุนงำเมืองปีละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่เสด็จในฤดูเทศกาลสงกรานต์ ได้มีโอกาสรู้จักขุนเม็งรายทั้ง 3 องค์ ได้ชอบพอเป็นสหายกัน เคยหันหลังเข้า พิงกันกระทำสัจจปฏิญาณแก่กัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำขุนภู ว่าจะไม่ผูกเวรแก่กัน จะเป็นมิตรสหายกัน กรีดโลหิตออกรวมกันขันผสมน้ำ ทรงดื่มพร้อมกัน (ภายหลังแม่น้ำนี้ได้ชื่อว่า แม่น้ำอิง)
             
พ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอุปฐากพระธาตุจอมทองซึ่งตั้งอยู่บนดอยจอมทอง ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพะเยา ที่ประชาชนสักการะบูชามาจนตราบเท่าทุกวันนี้
             
พ่อขุนงำเมืองสิ้นพระชนมเมื่อปีพุทธศักราช 1816 โอรส คือ ขุนคำแดง สืบราชสมบัติแทน ขุนคำแดงมีโอรสชื่อ ขุนคำลือ ซึ่งครองราชย์สมบัติแทนต่อมา

เมืองพะเยาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นล้านนาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ( หลัง พ.ศ. 1800 ) ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพระยาคำฤาบุตรพระยาคำแดง (สุวรรณสามราช) เป็นเจ้าเมืองครองเมืองพะเยาเป็นลำดับที่ 14 ตั้งแต่ขุนจอมธรรมเป็นต้นมา และเป็นลำดับที่ 3 ตั้งแต่พญางำเมืองมา พญาคำฟูแห่งเมืองเชียงแสน คบคิดกับเจ้าเมืองน่านทำศึกขนาบเมืองพะเยา เข้าสมทบกองทัพกันไปรบเมืองพะเยา ครั้งนั้นกองทัพพระยาคำฟูเข้าเมืองพะเยาได้ก่อน ได้ผู้คนช้างม้าและทรัพย์สิ่งของ เป็นอันมาก ก็มิได้แบ่งปันให้พระยากาวน่าน พระยากาวน่านขัดใจจึงยกกองทัพเข้ารบกับพระยาคำฟู พระยาคำฟูเสียที ล่าทัพหนีกลับมาเมืองเชียงแสน กองทัพน่านยกเลยไปตีปล้นเอาเมืองฝางได้ พระยาคำฟูก็ยกกองทัพใหญ่ไปตีกองทัพน่านยังเมืองฝาง กองทัพเมืองน่านสู้กำลังไม่ได้ก็เลิกถอยกลับไปเมืองน่าน พระยาคำฟูก็เลิกทัพกลับมาเมืองเชียงแสน นับแต่นั้นมา เมืองพะเยาก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา แล้วถูกลดฐานะเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่กับเมืองเชียงราย




9.อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง




อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอเชียงม่วน มีพื้นที่ทั้งหมด 462,775 ไร่ พื้นที่ประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังภายในอุทยานฯ มีสัตว์หลายชนิด เช่น ตะพาบน้ำ ตะกวด นกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะนกยูง นับเป็นอุทยานฯที่มีนกยูงมากที่สุดในภาคเหนือประมาณ 265 ตัว เป็นนกยูงเขียว (หรือนกยูงไทย) ชนิดพันธุ์ย่อยอินโดจีน ฤดูผสมพันธุ์ของนกอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี 

    สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ประกอบด้วย
    ถ้ำใหญ่ผาตั้ง เป็นถ้ำลึกประมาณ 800 เมตร มีหินงอกหินย้อยงดงามอยู่ทั่วไป บริเวณผาตั้งยังมีถ้ำขนาดเล็กอีกหลายแห่ง มีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภน.1 (ถ้ำผาตั้ง) คอยดูแลและอำนวยความสะดวก ถ้ำใหญ่ผาตั้งอยู่ห่างจากอำเภอปงไปประมาณ 23 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากบ้านผาตั้งไปอีก 1 กิโลเมตร 
    น้ำตกธารสวรรค์ หรือน้ำตกบ่อเบี้ย ตั้งอยู่ในเขตติดต่อกับบ้านบ่อเบี้ยหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านยาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา อยู่ในเขตป่าแม่ยมฝั่งขวามีลักษณะเป็นน้ำตกหิน 4 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นที่มีความสูงมากที่สุด ประมาณ 8 เมตร ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 2.50 เมตร ชั้นที่ 3 และ 4 สูงประมาณ 2 เมตร มีต้นกำเนิดจากห้วยแม่ปิง ซึ่งประกอบด้วยลำห้วยหลายสายไหลมารวมกัน น้ำตกชั้นที่สวยที่สุดคือ ชั้นที่ 1 ซึ่งตกลงมาจากแผ่นหินปูนที่กว้างประมาณ 150 เมตร สภาพโดยรอบ ๆ จะเป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าดิบชื้น และพื้นที่ทำเลของราษฎรบ่อเบี้ย
    น้ำตกนาบัว ตั้งอยู่ในเขตติดต่อกับบ้านบัว หมู่ที่ 4 ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งอยู่ในเขตป่าแม่ยมฝั่งขวาเป็นน้ำตกหินปูนสามชั้น ชั้นที่ 1 มีความสูงประมาณ 10 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร ชั้นที่ 2 อยู่ห่างจากชั้นที่ 1 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร สูงประมาณ 6 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร ชั้นที่ 3 อยู่ห่างจากชั้นที่ 2 ไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร มีต้นกำเนิดมาจากห้วยแม่จั๊งซึ่งมีน้ำไหลตลอด 
    น้ำตกห้วยต้นผึ้ง เป็นน้ำตกขนาดเล็กมี 3 ชั้น ชั้นที่ 3 สูงประมาณ 40 เมตร และมีน้ำไหลตลอดปี การเดินทางใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1251 สายดอกคำใต้-เชียงม่วน เมื่อผ่านสามแยกบ้านบ่อเบี้ยไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบกับทางเข้าน้ำตกซึ่งเป็นทางเดินเท้าประมาณ 1 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะพบกับธารน้ำตกชั้นเล็กชั้นน้อย 
    ฝั่งต้า ตั้งอยู่ในเขตติดต่อกับบ้านไชยสถาน หมู่ที่ 4 ตำบลเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีสภาพคล้าย แพะเมืองผี คือ เป็นลักษณะของการกัดเซาะพังทะลายของดินที่ภูเขาเตี้ยๆ แห่งหนึ่ง ทำให้เกิดรูปร่างที่คงเหลืออยู่ภายหลังจากการพังทลายอย่างรุนแรงผ่านไปแล้ว มีรูปร่างคล้ายเสาแหลมๆ เรียงรายติดต่อกันเป็นแนวยาวประมาณ 200 เมตร สูงประมาณ 25 เมตร พื้นที่อยู่บริเวณรอยต่อของป่าน้ำปี้และป่าแม่ยมฝั่งซ้าย-น้ำควรฝั่งซ้าย สภาพพื้นที่เป็นภูเขามีทางลูกรังเชื่อมต่อกับบ้านไชยสถานได้ พื้นที่รอบๆ นอกจากจะมีเขตติดต่อกับที่ทำกินของราษฎรบ้านไชยสถานบนยอดเขาของฝั่งต้า ยังเป็นจุดชมทิวทัศน์และบริเวณพักผ่อนได้ เนื่องจากมีพื้นที่ค่อนข้างราบ มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ และสามารถมองเห็นความสวยงามได้รอบด้าน 

    เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เส้นทางเดินเท้านี้จะพาไปสู่ธรรมชาติอันสวยงามของอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติได้จัดไว้ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ น้ำตกห้วยต้นผึ้ง และห้วยยั๊วะ 

    ที่พัก อุทยานแห่งชาติ ยังไม่ที่พัก-บริการไว้บริการนักท่องเที่ยว หากสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ ท่านสามารถนำเต็นท์และอาหารไปเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ รายละเอียดเกี่ยวกับที่พักเต็นท์ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง 

    การเดินทาง 

    รถยนต์
    - ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1091 สายอำเภอจุน-จังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือติดต่อมาทางด้านทิศตะวันออกของป่าแม่ยมฝั่งขวา และตัดผ่านป่าปี้ไปยังอำเภอบ้านหลวงจังหวัดน่าน เป็นเส้นทางที่สะดวกสามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล 

    - ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1120 สายอำเภอเชียงม่วน-อำเภอสอง ซึ่งอยู่ต่อจากทางหลวงจังหวัด หมายเลข 1091 ไปทางตอนใต้ ตัดผ่านป่าปี้ ไปยังอำเภอสอง จังหวัดแพร่ เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ใช้ได้ตลอดฤดูกาล 

    - ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1251 สายอำเภอดอกคำใต้-อำเภอเชียงม่วน ตัดผ่านป่าแม่ยมฝั่งขวา จากเขตตำบลหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ไปเชื่อมกับทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1091 สายอำเภอจุน จังหวัดน่าน ที่บริเวณบ้านสระ ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีระยะทางไปเขตป่าแม่ยม ขวางประมาณ 3.5 กิโลเมตร และเข้าไปบ้านนาบัว หมู่ 4 ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน ประมาณ 10 กิโลเมตร (บ้านนาบัวและบ้านห้วยก้างปลาอยู่ในเขตการปกครองหน่วยเดียวกันแต่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างกันไป) 

    ติดต่อ อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง หมู่ 6 ต.บ้านมาง อ. เชียงม่วน จ. พะเยา 56160 โทรศัพท์ 0 5448 9202

10.อุทยานแห่งชาติป่าแม่ปืม





      อุทยานแห่งชาติแม่ปืม มีเนื้อทีประมาณ 356 ตารางกิโลเมตร หรือ 222,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ จังหวัดเชียงราย ที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปืมและป่าแม่พุง อำเภอพาน อำเภอป่าแดง จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ประมาณ 220 ตารางกิโลเมตร หรือ 137,431 ไร่ อำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ฮ่องป้อ ป่าห้วยแก้ว และป่าแม่อิงฝั่งซ้าย กิ่งอำเภอภูกามยาว เนื้อที่ 248 ตารางกิโลเมตร หรือ 155,000 ไร่
     ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน และมีพื้นที่บนเขาน้อยมาก เป็นต้นกำเนิดลำน้ำสำคัญ 2 สายคือลำน้ำแม่แก้ว ตลอดสายธารน้ำมีลักษณะเป็นโขดหินที่สวยงาม และลำห้วยแม่ปืม ที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำแม่ปืม ทั้งสองลำน้ำสำคัญมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และยังเป็นต้นน้ำสำคัญ ภายในอุทยานฯ แม่ปืมจึงมีสถานพักผ่อน บรรยากาศดีริมอ่างเก็บน้ำแม่ปืม เป็นสถานที่เที่ยวหลักที่คุณสามารถนั่งปิกนิกชมวิวริมทะเลสาบกับครอบครัว หรือจะตั้งแคมป์ไฟกับเพื่อนฝูง เพลิดเพลินกับกิจกรรมตกปลาและพายเรือยางสนุกๆ ยามเช้ายังมีทะเลหมอกสวยงาม ส่วนยามเย็นก็มีวิวพระอาทิตย์อัสดงกลางผืนน้ำทะเลสาบงดงามไม่น้อย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น