จังหวัดพะเยา มีขนบธรรมเนียม ประเพณี
วัฒนธรรมและการละเล่นพื้นเมืองที่สำคัญ ที่นิยมปฏิบัติ สืบทอดกันมา
แต่โบราณจนถึงปัจจุบัน คือ
1. งานบวงสรวงพ่อขุนงำเมือง เป็นงานประเพณีประจำปี
(วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี) เพื่อสักการะพ่อขุนงำเมือง
เจ้าเมืองพะเยาองค์ที่ 9 (พ.ศ. 1781 – 1839) ผู้สร้างความรุ่งเรืองให้แคว้นพะเยาและร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่กับพญาร่วง
และพญามังราย จะมีข้าราชการ
พ่อค้าและประชาชนชาวพะเยานำเครื่องสักการะมาทำพิธีบวงสรวงพระรูปที่อนุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้น
ณ บริเวณสวนสมเด็จย่า 90 ถนนเลียบกว๊านพะเยา
2.ประเพณีไหว้พระธาตุดอยจอมทอง วันเดือนหกเป็ง (เพ็ญเดือน 4) ทุกปี
ชาวพะเยา พร้อมใจกันทำบุญไหว้พระธาตุดอยจอมทอง เพราะความเลื่อมใสศรัทธา
3. ประเพณีไหว้พระเจ้าตนหลวง เป็นประเพณีที่ผู้คนมากราบไหว้พระเจ้าตนหลวงอย่างล้นหลาม
เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว ในวันเดือนแปดเป็ง (เพ็ญเดือน 6) ประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี
4. ประเพณีไหว้พระธาตุวัดป่าแดง-บุญนาค เป็นประเพณีที่ชาวพะเยา
จะพากันทำบุญตักบาตรสวดมนต์ไหว้พระ เวียนเทียน รักษาศีลภาวนา ในวันเดือน 7 เป็ง (เพ็ญเดือน 5) ของทุกปี
5. ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นพิธีขอน้ำขอฝน
จากผีประจำขุนเขาที่เป็นต้นน้ำ เพราะเป็นเวลาที่ใกล้จะหว่านข้าวกล้า
จะทำในวันปากปีของสงกรานต์เมืองเหนือ (วันที่ 16 เมษายน)
ทุกปี
6. งานประเพณีสงกรานต์ (ปี๋ใหม่เมือง) ล้านนาจะมีประเพณีสงกรานต์หรือประเพณีขึ้นปีใหม่
ตามการนับการจันทรคติ มี 4 วัน ในเดือนเมษายน ได้แก่
วันสันขานต์ล่อง ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ชาวล้านนายังไม่ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่
แต่จะเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน เสื้อผ้าที่อยู่อาศัยและหยุดทำงานประจำอื่นๆ
ตอนเช้า จะมีการยิงปืนยิงพลุ ซึ่งถือว่าเป็นการขับไล่ตัวสังขานต์
พอตกเย็นทุกคนจะสระผมด้วยน้ำส้มป่อย เพื่อไล่เสนียดจัญไร
วันเนา หรือ วันเน่า ตรงกับวันที่
14 เมษายน เชื่อกันว่าเป็นวันไม่เป็นมงคล
เพราะฉะนั้นทั้งวันชาวบ้านจะถือว่าเป็น วันดา (วันเตรียมของ)
โดยจะมีการประกอบอาคารทั้งคาว หวาน โดยจะทำอย่างประณีตและสะอาด
เพราะวันรุ่งขึ้นจะต้องนำไปถวายพระ ที่เหลือจะใช้เลี้ยงญาติพี่น้อง ตอนบ่าย
ทุกคนจะช่วยกันขนทรายตามห้วยหนองและแหล่งน้ำ เข้าไปกองไว้ที่บริเวณวัด
วันพระยาวัน ตรงกับวันที่ 15
เมษายน คนล้านนาถือว่าเป็นวันสำคัญที่สุด เพราะเป็นวันเถลิงศก
หรือเริ่มต้นวันปีใหม่ เป็นวันมงคล
โดยตอนเช้าชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด จนกระทั้งพิธีกรรมเสร็จเรียบร้อย
จากนั้นญาติพี่น้องก็จะพากันไป “ดำหัว” คนที่เคารพนับถือ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ เป็นต้น
เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวที และการอโหสิกรรมแก่กันและกัน
วันปากปี ตรงกับวันที่ 16 เมษายน
โดยชาวบ้านจะไปร่วมกันที่วัดพร้อมกับสะตวง (กระทง)
ใส่เครื่องบูชาพระเคราะห์พร้อมเสื้อผ้าตนเองและคนในครอบครัว
เพื่อบูชานพเคราะห์ทั้งเก้า
โดยจะมีพระสงฆ์ทำพิธีกรรมซึ่งเชื่อว่าเมื่อทำแล้วคนในครอบครัวจะปราศจากเคราะห์กรรมตลอดปี
7. ประเพณีลอยกระทง (ประเพณียี่เป็ง) ตรงกับวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ
(เดือนพฤศจิกายน) ประเพณีนี้มี 2 วันคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ เรียกว่า วันยี่เป็ง เป็นวันขอขมาต่อแม่น้ำคงคา
ในช่วงเช้าจะเป็นการทำบุญตักบาตร และมีเทศน์มหาชาติฉบับล้านนา
ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงกลางคืน และกลางวันจะมีการปล่อยโคมลอยขึ้นบนท้องฟ้า
ซึ่งถือว่าเป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก กลางคืนจะมีการลอยกระทงเล็ก
บริเวณรอบกว๊านพะเยา ส่วนวันที่สอง คือ วันแรม 1 ค่ำ
จะมีการจัดกระทงขนาดใหญ่ของแต่ละหน่วยราชการต่าง ๆ มาร่วมขบวนแห่
โดยมีนางนพมาศนั่งประจำกระทงทุกกระทง ตลอดงานกลางคืนจะมีการจุดดอกไม้ไฟ โคมลอย
ประดับประดาอย่างสวยงาม
8. งานประเพณีสลากภัต
(ตานก๋วยสลาก) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันเพ็ญเดือนสิบสองเหนือ
(เดือน 10) ประมาณเดือนกันยายน และจะสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ
(เดือน 11) ชาวบ้านจะนำเอาสิ่งของต่างๆ เช่น ข้าวสาร พริก
หอม กระเทียม อาหารเป็นห่อนึ่ง ชิ้นปิ้ง (เนื้อย่าง) หมาก เมี่ยง บุหรี่
รวมใส่ในก๋วย (ตะกร้า) พร้อมกับยอด คือ สตางค์หรือธนบัตรผูกไว้
ซึ่งขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาและทรัพย์ของแต่ละครอบครัวเมื่อถึงวันทำบุญ
ทุกครอบครัวจะน้ำก๋วยพร้อมสลากซึ่งจะเขียนใส่ในใบลานหรือกระดาษ
ไปพร้อมกันที่พระวิหาร เพื่อทำพิธีตามพิธีสังฆกรรมทั่วไป โดยในวันพิธีจะมีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่าง
ๆ นำขบวนแห่เครื่องไทยมาร่วมเป็นจำนวนมาก
ซึ่งถือเป็นการทำบุญร่วมกันและสร้างสัมพันธ์ในชุมชนได้อย่างดี
9. งานพิธีแห่เทียนเข้าพรรษา จะตรงกับวันอาสาฬหบูชา
หรือวันเพ็ญเดือนแปด (เดือนกรกฎาคม) โดยคณะศรัทธาและหน่วยราชการทุกแห่งจะรวมกันหล่อเทียนที่แกะสลักอย่างสวยงามเพื่อนำมาร่วมเป็นขบวนแห่เทียนเข้าพรรษาของแต่ละปี
เพื่อประกวดประชันความสวยงามของเทียน เมื่อมีการตัดสินให้รางวัลเรียบร้อยแล้ว
คณะศรัทธาของแต่ละวัดจะนำเทียนเข้าพรรษาของวัดตนเองไปถวายพระสงฆ์เพื่อนำไปจุดบูชาในเทศกาลเข้าพรรษาต่อไป
10. พิธีเลี้ยงผีหนองเล็งทราย จะจัดขึ้นวันแรม 9
ค่ำ เดือน 9 เหนือ (เดือน 7) ของทุกปี
ณ บริเวณหนองเล็งทราย อ. แม่ใจ ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ
เพื่อสร้างจิตสำนึกของชาวบ้านให้รู้จักคุณค่าของแหล่งน้ำและช่วยกันอนุรักษ์
11. ประเพณีวันดอกคำใต้บาน วันที่ 4
กุมภาพันธ์ของทุกปี กลุ่มสตรีทุกระดับจะรวมพลังทำกิจกรรมร่วมกัน
มีการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน การจำหน่ายผลผลิตพื้นบ้าน
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สตรีทุกคนสำนึกในศักดิ์ศรีของสตรี
โดยเฉพาะความเป็นกุลสตรีของอำเภอดอกคำใต้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น